เอ็นจีโอกังขา รัฐยกป่าชายเลนให้เอกชนดูแล ใต้วาทกรรม “คาร์บอนเครดิต”

รัฐบาลเดินหน้าจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่ำกว่า 44,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทระดับแถวหน้าของประเทศไทย ตามนโยบาย “คาร์บอนเครดิต” ขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางส่วนตั้งคำถามถึง “ความโปร่งใส” ของโครงการ

ภาพ: ลูค ดักเกิลบี / HaRDstories
ชาวประมงขับเรือผ่านป่าชายเลนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ภาพ: ลูค ดักเกิลบี / HaRDstories

กรุงเทพมหานคร — นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนชุมชนในภาคใต้ กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาชี้แจงกรณี “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” (ทช.) อนุมัติให้บริษัทเอกชนเข้าใช้ประโยชน์ในผืนป่าชายเลน

ประเด็นนี้สืบเนื่องจากปมเอกสารของ ทช. หลุดว่อนโลกโซเชียลมีเดียในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยคำสั่งระบุว่าได้มอบพื้นที่ป่าชายเลน 44,712 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาคเอกชน 17 บริษัท ซึ่งรวมถึง “บิ๊กเนม” ด้านธุรกิจเชื้อเพลิงและพลังงานระดับต้นๆ ของประเทศ จากที่เดิมที ป่าจำนวนนี้หลายแห่งมีชุมชนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลมาตลอดหลายสิบปี อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหาร หาของป่า และสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนด้วย

เอกสารดังกล่าวลงนามตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 แต่เนื้อหาเพิ่งปรากฏต่อสื่อมวลชนและสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้ โดยรัฐบาลระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “คาร์บอนเครดิต” กล่าวคือ อนุญาตให้ทั้ง 17 บริษัทปลูกและดูแลพื้นที่ป่าเหล่านั้น เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนตามโควต้าที่กำหนดไว้ และปันส่วนรายได้ให้แก่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมได้ตั้งคำถามต่อโครงการนี้ไว้หลายประเด็น มีทั้งข้อกังวลว่าคำสั่งของ ทช. จะกลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์จากป่าหรือไม่ สัดส่วนรายได้ที่ชุมชนจะได้รับ (เพียงแค่ร้อยละ 20 เท่านั้น) เป็นธรรมหรือไม่ และโครงการเช่นนี้ จะช่วยลดปัญหาการปล่อยคาร์บอนจากภาคอุตสาหกรรมในไทยได้จริงหรือไม่

“นี่มันคือมหกรรมการฟอกเขียว” สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวในงานเสวนา “คาร์บอนเครดิต ชุมชนได้-เสียอะไร?” ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดตรัง

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย ให้สัมภาษณ์ว่า รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการคาร์บอนเครดิตระลอกนี้ เพิ่งรู้ถึงหูวงการนักอนุรักษ์ หลังจากที่คำสั่งของ ทช. แพร่กระจายในโลกโซเชียลมีเดีย และอาศัยการบอกต่อจากบางชุมชนที่เริ่มได้รับข้อเสนอจากภาคเอกชน ที่ต้องการเข้าบริหารจัดการป่าชายเลนในพื้นที่ต่างๆ

“หลักแนวคิดนี้เนี่ย มันอาจจะเหมาะกับนักธุรกิจและรัฐบาลที่มักง่าย แต่ในฐานะประชาชน มันไม่สามารถตอบสนองการแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้จริง” วิโชคศักดิ์กล่าวกับ HaRDstories

“หลักการที่ยูเอ็น (องค์การสหประชาชาติ) พูดไว้คือ ผู้ก่อคาร์บอน ต้องเป็นผู้รับผิดชอบการปล่อยคาร์บอน แต่มันถูกบิดเบือนกลายเป็นคาร์บอนเครดิตขึ้นมา สิ่งที่ยูเอ็นพูด หมายความว่า ต้องลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยคาร์บอน ไม่ใช่ไปฮุบของคนอื่น โดยเอาตังค์ไปซื้อ”

คำวิจารณ์ของวิโชคศักดิ์สอดคล้องกับเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆทั่วโลก ที่มองเช่นกันว่า การใช้โควต้าคาร์บอนเครดิตหรือปลูกป่าทดแทน อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปล่อยคาร์บอนได้อย่างยั่งยืน ตามที่เคยเข้าใจกัน

 

จากมือชุมชน สู่มือเอกชน

ข่าวประชาสัมพันธ์จากฟากรัฐและเอกชน ประสานเสียงกันว่า โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนกับชุมชนท้องถิ่น โดยชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อดูแลและพัฒนาป่าชายเลนในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อที่บริษัทคู่สัญญาจะได้บรรลุเป้าหมายการดูดซับหรือชดเชยคาร์บอนที่ได้ตั้งไว้

บริษัทที่เข้าร่วมโครงการผืนป่าชายเลน 44,000 ไร่ครั้งนี้ ประกอบไปด้วยบริษัท “บิ๊กเนม” อย่าง พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ธุรกิจเคมิคอลล์ เอสซีจี, ไทยออยล์ และ เชลล์แห่งประเทศไทย

ในปัจจุบัน ตำแหน่งที่ชัดเจนของพื้นที่ป่ากว่า 44,000 ไร่เหล่านี้ยังไม่มีการเปิดเผยจากภาครัฐ แต่กลุ่มเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมได้รับรายงานว่า หลายแห่งมีสถานะเป็น “ป่าชุมชน” โดยพฤตินัย กล่าวคือ เป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่ชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษามานานหลายสิบปี ภายใต้การควบคุมดูแลจากหน่วยงานรัฐอย่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ชุมชนเหล่านี้มักจะได้รับอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่าชายเลนที่ดูแล เช่น หาปลา จับสัตว์น้ำ หาของป่า หาสมุนไพร หรือพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

วิโชคศักดิ์และนักอนุรักษ์คนอื่นๆ เตือนว่า ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างป่ากับชุมชนเช่นนี้ อาจจะถูกทำลายจากโครงการคาร์บอนเครดิตแบบที่ ทช. กำลังพยายามนำไปเสนอขายให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่

ข้อกังวลของพวกเขาเกิดจากเนื้อหา “MOU” ที่ภาคเอกชนเซ็นลงนามกับชุมชนของป่าชายเลนที่เข้าร่วมโครงการ โดยผู้ที่ได้เห็นตัวเอกสาร  MOU เหล่านี้ให้ข้อมูลว่า เนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่า บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ถือครอง “ทรัพย์สินทางปัญญา” ทั้งหมดของประโยชน์ที่ได้จากป่าชายเลนในโครงการ ซึ่งภาครัฐยังไม่ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนว่าหมายถึงอะไรบ้าง และบริษัทยังสามารถสงวนสิทธิ์ไม่ให้ชุมชนเข้าใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ในลักษณะที่บริษัทเชื่อได้ว่าอาจสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

 

MOU ระบุด้วยว่า ข้อตกลงจะมีผลยาวนานถึง 30 ปี

“สิ่งที่ตามมาคืออะไร พวกเรามีปัญหาเรื่องที่ดินกับรัฐอยู่แล้ว ทั้งกรมอุทยาน กรมป่าไม้ ทช.” สมบูรณ์จากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวที่งานเสวนาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม  “สมมติ ถ้ามีการจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มทุน จากความขัดแย้งเดิม จะกลายเป็นปัญหาใหม่ระหว่างชาวบ้านกับนายทุนทันที เป็นรูปธรรมชัดเจนมาก”

 

ป่าชายเลนและโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งหนึ่งในจังหวัดกระบี่ ภาพ: ลูค ดักเกิลบี / HaRDstories

ทั้งนี้ ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าชุมชนกี่แห่งได้ลงนาม MOU กับภาคเอกชนไปแล้วบ้าง ด้านวิโชคศักดิ์ให้ข้อมูลว่ามีชุมชนอย่างน้อย 39 แห่งเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่เตือนว่าตัวเลขดังกล่าวน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริงมาก เพราะที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่รัฐใช้วิธีลงพื้นที่ไปเจรจากับชาวบ้านโดยตรง ในฐานะคนกลางและตัวแทนจากภาคเอกชน แทนที่จะใช้วิธีประกาศให้สาธารณชนได้ทราบถ้วนหน้ากัน

การเจรจาเชิงปิดลับในลักษณะเช่นนี้ ทำให้กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและนักกิจกรรมที่ต่อต้านโครงการไม่ได้ทราบความคืบหน้าของการพูดคุย จนกระทั่งชุมชนหลายแห่งได้ลงนามเสร็จเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

“ถ้าเป็นเรื่องดี ทำไมต้องทำแบบหลบๆ ซ่อนๆ ด้วยล่ะครับ” วิโชคศักดิ์ตั้งคำถามไว้

 

ไม่ได้มัดมือชก

ถึงแม้นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมหลายคนจะแสดงท่าทีคัดค้านโครงการคาร์บอนเครดิต แต่ตัวแทนชุมชนจำนวนหนึ่งได้อ้าแขนรับข้อตกลงกับบริษัทเอกชนข้างต้น เพราะมองว่าเป็นทางออกรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้พื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่ของตนได้รับการดูแลอย่างดีและได้ค่าตอบแทนด้วย

ณ งานเสวนาที่จังหวัดตรัง ตัวแทนชุมชนจากจังหวัดพังงาคนหนึ่ง ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนที่ได้เข้าร่วมการพูดคุยกับบริษัทสยามทีซี เทคโนโลยี จนกระทั่งชุมชนได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิตเพราะเห็นประโยชน์หลายอย่าง เช่น บริษัทได้ให้คำมั่นว่าชาวบ้านจะยังสามารถเข้าใช้พื้นที่ป่าชายเลนได้ตามปกติ คล้ายกับสิทธิ์ภายใต้ “ป่าชุมชน” ที่ปฏิบัติมากว่า 30 ปี

“ก่อนทำ MOU มีการประชุม 3-4 หมู่บ้านที่รับโครงการ รับฟังความคิดเห็นกัน 3-4 ครั้ง ไม่ได้มัดมือชก มีการพูดทั้งข้อดีข้อเสีย” ตัวแทนชุมชนกล่าวในที่ประชุม 

นอกจากนี้ สยามทีซี ยังได้มอบเงินกว่า 200,000 บาทให้แก่ชุมชนทันทีที่ลงนาม MOU ซึ่งเงินส่วนนี้ชุมชนจะเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนและบำรุงศาสนสถาน และยังตกลงว่าจะให้เงินสนับสนุนชาวบ้านที่ดูแลป่าอย่างต่อเนื่องทุกปี ไม่ว่าจะเป็นค่าตัดกิ่ง ค่าน้ำมัน ค่าตรวจตราป่าชายเลน ฯลฯ

“ใช่ ผมเห็น ใน MOU บอกว่า บริษัทจะได้รายได้ 70 ชุมชนได้ 20 กรม (ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) ได้ 10” ตัวแทนชุมชนคนเดิมกล่าวต่อ “แต่ผมก็อธิบายว่า เราก็ไม่รู้จะได้เท่าไหร่ มันอยู่กลางอากาศ ที่ผ่านมา 30 ปี เราก็ไม่เห็นเคยได้อยู่แล้ว”  

วิโชคศักดิ์ ประธานสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ตนอยากให้ภาครัฐพูดคุยกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อที่สังคมจะได้ถกเถียงข้อดีและข้อเสียของโครงการคาร์บอนเครดิต และช่วยกันหาบทบาทที่เหมาะสมของชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นของตน

“พอมีคำถามเกิดขึ้นแบบนี้ ก็ควรแถลงชี้แจงให้เป็นสาธารณะ ไม่ใช่ไปแอบไป ‘ขอเคลียร์’ ใช้วิธีไปประชุมเคลียร์กับชาวบ้าน ขอชาวบ้านอย่าค้านได้มั้ย ไม่ได้เป็นการแถลงต่อสื่อมวลชน” วิโชคศักดิ์กล่าว 

“ผมอยากให้ ทช. แถลงตรงๆ ให้เชิญคนมาช่วยคิดกัน จะมาบริหารจัดการเรื่องนี้กันอย่างไร”

error: Content is protected !!