ผู้หญิงไทยทำแท้งได้แล้วจริงๆ หรือ?

Photo: Luke Duggleby/HaRDstories

ผ่านไปสองปีแล้วที่ไทยเปิดให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ขาดการปฏิบัติจริง ไร้สถานบริการ-หมออ้างบุญบาปปฏิเสธไม่ทำให้ ผู้หญิงไทยยังคงเสี่ยงเสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย

 

7 กุมภาพันธ์ 2566 เครือข่ายสนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย นำโดย “กลุ่มทำทาง” จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ไทยจัดบริการและส่งเสริมการทำแท้งที่ปลอดภัยให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี เนื่องในโอกาสครบรอบสองปีที่ไทยแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301-305 ว่าด้วยการทำแท้ง ทว่านอกจากระบุในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ยังขาดการปฏิบัติใช้

เครือข่ายราว 15 คนทำพิธีเชิงสัญลักษณ์ “กรวดน้ำแผ่บุญกุศล” ให้กับผู้หญิงที่เสียชีวิตและเป็นโรคจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัยและ “กรวดน้ำคว่ำขัน” อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขที่ไม่เร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่

กลุ่มทำทางซึ่งให้คำปรึกษาและข้อมูลทำแท้งทางไลน์ เผยว่าปัจจุบัน มีสถานพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งไม่ถึง 100 แห่งจากโรงพยาบาล 1,300 แห่งในไทยครอบคลุมเพียงแค่ 38 จังหวัด กรุงเทพฯ ซึ่งมีอัตราการทำแท้งมากที่สุด กลับไม่มีสถานบริการสาธารสุขรัฐที่ให้บริการ หลายคนจึงต้องเดินทางไปสิงห์บุรี (ห่างไป 140 กม.) หรือทำกับคลินิกเอกชนที่ราคาสูงกว่าเกือบเท่าตัว

เมย์ หญิงสาวที่เคยทำแท้งมาร่วมกิจกรรมพร้อมกับแฟนหนุ่ม เธอกล่าวว่าตอนทำแท้ง รู้สึกวิตกมาก “ต่อให้ไทยจะเปิดให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายแล้ว แต่ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยขึ้นเลย เพราะเราไม่รู้เลยว่าจะต้องไปหาสถานบริการที่ไหนแล้วเขาจะทำให้เราหรือไม่”

เครือข่ายฯ พบว่าผู้ทำแท้งมากกว่า 60% ไม่มีเงินพอรับบริการ การทำแท้งอายุครรภ์ไม่เกิน 12 เดือนกับหน่วยบริการรัฐมีค่าใช้จ่ายราว 3,000 บาทและสูงขึ้นสำหรับอายุครรภ์ที่นานขึ้น ธันวาคม 2565 ไทยยังเพิ่งตัดงบสนับสนุนทำแท้ง 3,000 บาทจากผู้ใช้สิทธิประกันสังคมและข้าราชการ 

 

เครือข่ายทำพิธีเชิงสัญลักษณ์ “กรวดน้ำแผ่บุญกุศล” ให้กับผู้หญิงที่เสียชีวิตและเป็นโรคจากการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย Luke Duggleby/HaRDstories

นอกจากนี้ กฎหมายทำแท้งยังขาดการกำหนดบทลงโทษและเปิดช่องให้หน่วยงานสาธารณสุขปฏิเสธไม่ทำแท้งให้และส่งต่อเคสไปที่อื่น เครือข่ายจัดกิจกรรมพบหลายกรณีที่โรงพยาบาลไม่ทำให้และกำหนดระเบียบขึ้นเอง เช่น ให้เด็กวัยรุ่นพาผู้ปกครองมา ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หากผู้ต้องทำแท้งมีอายุเกิน 15 ปีนั้นไม่จำเป็นต้องมีผู้ปกครอง

“ปัจจุบันต้องไม่มีใครตายจากการทำแท้ง ถ้าทำแล้วเกิดโรคแทรกซ้อนก็นับว่าป่วยฉุกเฉินแล้วไปรับสิธิรักษาที่โรงพยาบาลได้” สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทางกล่าว เธอพบว่าหลายคนที่ต้องการทำแท้งเลือกใช้ยาทำเองที่บ้าน แต่เพราะขาดความรู้ความเข้าใจ ไม่รู้อายุครรภ์ตัวเอง ทำให้เสี่ยงมีอาการแทรกซ้อน เช่น ตกเลือด แท้งไม่ครบ จนถึงเสียชีวิต

เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดสถานให้บริการทำแท้งอย่างน้อยหนึ่งแห่งทุกจังหวัด  ประชาสัมพันธ์รายชื่อสถานให้บริการและสร้างความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข 

นิศิตา รอบุญ เจ้าหน้าที่รักษาการณ์แทนหัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ได้รับหนังสือเปิดผนึกจากกลุ่มทำทางและเครือข่าย พร้อมแจ้งว่าจะส่งเรื่องต่อเพื่อพิจารณา

error: Content is protected !!