เครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอนร้องประวิตร ยุติโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม

เครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอนยื่น 5 ข้อเรียกร้องถึงประวิตร จี้ยุติโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ชี้ไม่ชอบธรรม ไม่โปร่งใส ไม่น่าเชื่อถือ ด้านผู้แทนประวิตรรับติดตามการประชุมแก้ปัญหากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งด่วน

13 มิ.ย. 2565 เครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอนในนาม “เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน” ยื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในนามประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ณ ศูนย์ดำรงธรรม จ.แม่ฮ่องสอน ให้ยุติโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (แนวผันน้ำยวม) หรือ โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ชี้ว่าจะกระทบชุมชนจำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมถึงยังพบความไม่โปร่งใสและไม่น่าเชื่อถือในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

การเคลื่อนไหวยื่นหนังสือนี้เกิดขึ้นในระหว่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อมอบนโยบายหลังรับฟังการนำเสนอสถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำใน จ.แม่ฮ่องสอน การดำเนินการตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และการจัดการไฟป่าและ PM 2.5 โดยมี ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

หนังสือดังกล่าวระบุถึงความไม่ชอบธรรมของกระบวนการจัดทำ EIA ว่า นับตั้งแต่มีการเสนอโครงการ ระหว่างการจัดทำรายงานอีไอเอโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้มีการส่งหนังสือหนังสือร้องเรียนหลายฉบับอย่างต่อเนื่องถึงหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน คณะผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เกี่ยวกับความไม่เหมาะสมของโครงการ และข้อบกพร่องหลายประการของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นกระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่มีล่ามแปลภาษาราชการให้เป็นภาษาท้องถิ่นเพื่อให้ชาวบ้านได้เข้าใจและสามารถแลกเปลี่ยนหรือแสดงความคิดเห็นได้ ในรายงานมีการถ่ายภาพกับชาวบ้าน และระบุว่ามีการสัมภาษณ์เชิงลึก ทั้งที่ไม่มีการสัมภาษณ์แต่อย่างใด

“กรมชลประทานได้ว่าจ้างบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ เพื่อทำโครงการศึกษาวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลการศึกษาเบื้องต้นที่มีการจัดเวทีที่เปิดเผยต่อสาธารณะ โดยล่าสุดระบุว่า มูลค่าการลงทุนของโครงการนี้สูงถึง 172,220 ล้านบาท” หนังสือระบุ

 

เครือข่ายฯ จึงได้แสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 5 ข้อ ได้แก่

1. ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ในพื้นที่ที่มีภูมิลำเนาในป่ารอบต่อ 3 จังหวัด ที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่ามีวิถีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรจากป่าเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารโดยชุมชนได้ช่วยกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์มาตลอดหลายชั่วอายุคน แต่โครงการนี้จะทำให้ชาวบ้านต้องสูญเสีย ทั้งที่ดิน บ้านเรือน ที่ทำกิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ พื้นที่ป่าไม้ ป่าต้นน้ำ ลำห้วย และแม่น้ำ ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของเรา ซึ่งหากเกิดผลกระทบจากโครงการนี้ ระบบนิเวศเปราะบางและทรัพยากรธรรมชาจชติจะไม่อาจฟื้นฟูกลับมาให้เป็นดังเดิมได้ดังนั้น พวกเราเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ตลอดแนวพื้นที่โครงการ ทั้งเขื่อน สถานีสูบน้ำ แนวอุโมงค์ส่งน้ำ ปากอุโมงค์ส่งน้ำ จุดทิ้งกองดิน และแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จำนวนอย่างน้อย 46 หมู่บ้าน ใน อ.ท่าสองยาง จ.ตาก อ.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่งในพื้นที่ดังกล่าว จึงขอแสดงจุดยืนว่า พวกเราไม่เห็นด้วยและขอคัดค้านการเดินหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล-แนวผันน้ำยวม ขอให้ท่านโปรดพิจารณาความคิดเห็นและข้อกังวลใจของพวกเราต่อโครงการดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและเป็นการฟังเสียงประชาชนอย่างแท้จริง

2. โครงการนี้ไม่ความจำเป็นในการก่อสร้าง ทั้งนี้ข้ออ้างที่ว่าต้องการผันน้ำจากลุ่มน้ำยวม สาละวิน ไปแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำที่ภาคกลาง (ลุ่มน้ำปิง-เจ้าพระยา) ก็ไม่เป็นควาจริงเพราะภาคกลางมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่อยู่แล้ว หากแต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี และควรใช้ทรัพยากรน้ำจากลุ่มน้ำนั้นๆ แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ บทเรียนการสร้างเขื่อนในประเทศไทย พบว่าโครงการของรัฐได้ไปทำลายทรัพยากรหรือความอุดมสมบูรณ์ของชุมชนในพื้นที่หนึ่ง เพื่อแก้ความขาดแคลนอีกพื้นที่หนึ่ง ทำให้เกิดปัญหาทั้งต้นทางและปลายทาง

3. โครงการนี้จะมีมูลค่าการลงทุนที่สูงมาก และอาจจะต้องใช้งบประมาณของรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน  ซึ่งอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรและชลประทานที่จะได้รับอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง อาจเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่เกิดประโยชน์สาธารณะและจะเป็นการสร้างภาระหนี้ระยะยาวให้กับประเทศ

4.โดยเราเห็นว่า มหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้จัดทำรายงาน EIA และบริษัท ปัญญา คอนซัลแทนต์ จำกัด ที่กรมชลประทานว่าจ้างให้ศึกษาวิเคราะห์โครงการฯ เป็นการดำเนินการที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ ประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่ก็ไม่ให้การยอมรับ และมีแนวโน้มว่า การทำรายงานดังกล่าว เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กรมชลประทานในการก่อสร้างโครงการฯ มากกว่ารับฟังความต้องการและความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง และน่าจะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หลายมาตรา

5.พวกเราในนามเครือข่ายฯ ได้ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ หรือ ขปส.) ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อคัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอด โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 246//2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ลงวันที่ 12 กันยายน 2562 และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 269/2563 เรื่อง แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ลงวันที่ 14 กันยายน 2562 นั้น ซึ่งการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ครั้งที่ 2/2565  เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 กรณีโครงการผันน้ำยวมนั้น ที่ประชุมมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบจากโครงการผันน้ำแม่ยวม เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบของโครงการผันน้ำแม่ยวม และกรณีการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล (ตามแนวผันน้ำยวม) ในพื้นที่จังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ เสนอแนะแนวทางทั้งความเหมาะสมและการแก้ไขปัญหาผลกระทบของโครงการผันน้ำแม่ยวม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน และรายงานผลการศึกษา ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของ ขปส. ตามที่อ้างถึง

ประสาน หวังรัตนปราณี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อร้องเรียนไว้ พร้อมกับกล่าวกับเครือข่ายว่า ตนขอรับข้อเสนอไว้ โดยให้ทางเลขานุการส่งต่อเรื่องให้กรมชลประทานในการลงพื้นที่แก้ปัญหาต่อไป

ในช่วงเวลาเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เครือข่ายประชาชนได้เข้ายื่นหนังสือถึงพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผ่านอำเภออีก 2 จุด ได้แก่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ โดยได้มีผู้แทนของอำเภอรับเรื่องร้องเรียนไว้ รวมถึงเปิดการเจรจากับเครือข่ายประชาชน

 

ที่มาข่าวพชร คำชำนาญ

ที่มาภาพเครือข่ายประชาชนแม่ฮ่องสอน

other News

ไทยเซ็นสัญญาซื้อขายไฟเขื่อนปากแบง 29 ปี คนโขงกังวลผลกระทบ

ไทยลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในลาว ด้วยระยะเวลาซื้อขายทั้งหมด 29 ปี โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่กังวลด้านผลกระทบ

Read More

เอ็นจีโอกังขา รัฐยกป่าชายเลนให้เอกชนดูแล ใต้วาทกรรม “คาร์บอนเครดิต”

รัฐบาลเดินหน้าจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่ำกว่า 44,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทระดับแถวหน้าของประเทศไทย ตามนโยบาย “คาร์บอนเครดิต” ขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางส่วนตั้งคำถามถึง “ความโปร่งใส” ของโครงการ

Read More

We use cookies to ensure that we give you the best experience on our website.