หวั่นยกฟ้องคดีเขื่อนไซยะบุรี

3 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.30 น ศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีเขื่อนไซยะบุรี (คดีหมายเลขดำ อส11/2559) ระหว่าง นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ชาวบ้านอ.เชียงของ จ.เชียงรายกับชาวบ้านแม่น้ำโขงในไทยรวม 37 คน ซึ่งยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) กับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

คดีดังกล่าวดำเนินมาแล้วสิบปี สิงหาคม 2555 ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงรวบรวมรายชื่อ 1,019 รายชื่อฟ้องหน่วยงานรัฐไทยข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ให้ข้อมูลและเปิดให้ชุมชนในไทยรับทราบเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว โดยให้เหตุผลว่าแม้เขื่อนดังกล่าวจะตั้งอยู่ในฝั่งลาว แต่ผู้รับซื้อไฟฟ้าปริมาณ 95% นั้นเป็นกฟผ.และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงยังส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังฝั่งไทย

ในการนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุดที่กรุงเทพฯ ตุลาการเจ้าของสำนวนได้มีการอ่านสรุปข้อเท็จจริงในคดีให้ผู้ฟ้องคดีได้รับฟัง โดยสรุปข้อเท็จจริง ว่าศาลได้กำหนดประเด็นในการวินิจฉัยแห่งคดีไว้สองประเด็น ได้แก่

ประเด็นที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยต่อหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้เหมาะสมและจัดการรับฟังความคิดเห็นให้เพียงพอหรือไม่

ประเด็นที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดีได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผลกระทบข้ามพรมแดนหรือไม่

 

 

ภาพ/ อำนาจ ไตรจักร

ด้านชาวบ้านแม่น้ำโขงสองรายได้แสดงความคิดเห็นต่อศาล อ้อมบุญ ทิพย์สุนา จากหนองคาย อธิบายว่าตนประกอบอาชีพเป็นแม่ค้า นับแต่ที่เกิดความผิดปกติของน้ำโขงปี 2556 ก็ไม่ได้ประกอบอาชีพนี้อีกเลย และหลังจากเขื่อนไซยะบุรีสร้างไม่เคยมีการแจ้งระดับน้ำขึ้นลง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเสียหายอย่างมาก สำหรับการจัดการรับฟังความคิดเห็นเขื่อนไซยะบุุรี จนได้เดินทางไปเข้าร่วมที่จังหวัดนครพนม มีการสอบถามคำถามมากกว่า 800 คำถาม แต่ก็ไม่มีการตอบให้ฟังและไม่มีการนำไปสู่รายงาน

ขณะที่ อำนาจ ไตรจักร จากนครพนม อธิบายว่าหลังจากเขื่อนไซยะบุรีเริ่มผลิตและขายไฟฟ้าอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 กระแสน้ำผิดปกติขึ้นลงฉับพลัน มีการพังทลายของหน้าดิน ทำให้ตนเสียที่ดินซึ่งอยู่ติดแม่น้ำโขงไปหลายไร่

เมื่อทางผู้ฟ้องคดีได้แถลงการณ์เป็นวาจาต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว ทางตุลาการเจ้าของสำนวนได้สอบถามตุลาการผู้แถลงคดีว่าหลังจากฟังคำแถลงของผู้ฟ้องคดีแล้วมีความเห็นอย่างไร ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงว่าไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความเห็นที่ได้จัดส่งให้ตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว

นอกจากนี้ตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงความเห็นว่าเห็นพ้องในผลของคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและเสนอให้ศาลปกครองสูงสุดพิกาษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง

ขั้นตอนนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการศาลเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการผู้แถลงคดีและผู้ฟ้องคดี ตุลาการหัวหน้าคณะจะนัดประชุมปรึกษาคดีเพื่อมีคำพิพากษาต่อไป

ด้านชาวบ้านแม่น้ำโขงเผยรู้สึกผิดหวังกับคำแนะนำของตุลาการวันนี้และฝั่งชุมชนมีเวลาแสดงความคิดเห็นน้อยมาก อย่างไรก็ตามจะเดินหน้าปกป้องแม่น้ำโขงต่อ

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลชุมชน

other News

ไทยเซ็นสัญญาซื้อขายไฟเขื่อนปากแบง 29 ปี คนโขงกังวลผลกระทบ

ไทยลงนามซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในลาว ด้วยระยะเวลาซื้อขายทั้งหมด 29 ปี โดยไม่รับฟังเสียงของประชาชนที่กังวลด้านผลกระทบ

Read More

เอ็นจีโอกังขา รัฐยกป่าชายเลนให้เอกชนดูแล ใต้วาทกรรม “คาร์บอนเครดิต”

รัฐบาลเดินหน้าจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนไม่ต่ำกว่า 44,000 ไร่ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทระดับแถวหน้าของประเทศไทย ตามนโยบาย “คาร์บอนเครดิต” ขณะที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางส่วนตั้งคำถามถึง “ความโปร่งใส” ของโครงการ

Read More

We use cookies to ensure that we give you the best experience on our website.